เถียงกับหัวหน้ายังไง ไม่ให้อนาคตดับ

เถียงกับหัวหน้ายังไง ไม่ให้อนาคตดับ “การไม่เห็นด้วย” คือ ศิลปะขั้นสูงของคนที่เป็นผู้นำ การทำสิ่งที่ยาก เช่น การไม่เห็นด้วยกับหัวหน้า หรือใครก็ตามที่มีอำนาจมากกว่าเรา เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ถ้าทำได้ถูกวิธี มีโอกาสโน้มน้าว โชว์กึ๋น โชว์ความคิด ให้คนอื่นเห็น แต่ถ้าทำผิดวิธี มีโอกาสอนาคตหน้าที่การงานดับได้ แถมอาจถูกเกลียดไปอีกตลอดกาล คนไม่ฉลาด มีข้ออ้างได้แต่เพียงว่า “เป็นคนตรงๆ” และจะต้องรับผลของความเป็นคนตรงๆ ไปตลอดชีวิต การจะตีอกชกลม ว่าหัวหน้าเป็นคนไม่รับฟังเหตุผลคนอื่น ก็คงไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้

เถียงกับหัวหน้ายังไง ไม่ให้อนาคตดับ

“การไม่เห็นด้วย” คือ ศิลปะขั้นสูงของคนที่เป็นผู้นำ
การทำสิ่งที่ยาก เช่น การไม่เห็นด้วยกับหัวหน้า หรือใครก็ตามที่มีอำนาจมากกว่าเรา เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน
ถ้าทำได้ถูกวิธี มีโอกาสโน้มน้าว โชว์กึ๋น โชว์ความคิด ให้คนอื่นเห็น
แต่ถ้าทำผิดวิธี มีโอกาสอนาคตหน้าที่การงานดับได้ แถมอาจถูกเกลียดไปอีกตลอดกาล
คนไม่ฉลาด มีข้ออ้างได้แต่เพียงว่า “เป็นคนตรงๆ” และจะต้องรับผลของความเป็นคนตรงๆ ไปตลอดชีวิต
การจะตีอกชกลม ว่าหัวหน้าเป็นคนไม่รับฟังเหตุผลคนอื่น ก็คงไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นได้
สู้ใช้ “การไม่เห็นด้วย” แบบมีกลยุทธ์ สร้างโอกาสให้ตัวเองจะดีกว่า
Joseph Grenny ผู้เขียนหนังสือ Crucial Conversation และ
Holly Weeks ผู้เขียนหนังสือ Failure to Communicate ได้ให้คำแนะนำและเทคนิคของการแสดงความไม่เห็นด้วย ดังนี้
 
1. ประเมินความเสี่ยงเบื้องต้น (Risk Assessment)
ก่อนเริ่มต้นไฝว์กับใคร ต้องทำแผนประเมินความเสี่ยง เบื้องต้นก่อน
เช่น พิจารณาเปรียบเทียบดูว่าการพูดกับการไม่พูดว่าไม่เห็นด้วย แบบไหนดีกว่ากัน
ถ้าไม่พูดจะเสียหายกับทีม หรือบริษัท
เสียเครดิต ถ้าทุกคนรู้ว่า เรารู้เรื่องนี้ดี แต่กลับไม่แสดงออกว่าไม่เห็นด้วย
หรือถ้าพูดไป จะทำให้อีกฝ่ายโมโหหรือไม่พอใจแค่ไหน
ทดไว้ในใจ ว่าความเสี่ยงอยู่ในระดับไหน ขั้นรุนแรงสุด คือ ถูกไล่ออก
 
2. กาลเทศะและจังหวะ เวลา
ถ้าคิดว่า ควรจะแสดงความไม่เห็นด้วยนี้ออกมา เป็นสิ่งจำเป็น และความเสี่ยงนี้จัดการได้ สิ่งสำคัญข้อถัดไป คือ “กาลเทศะ”
อย่าได้คิดหาพวก เพื่อใช้วิธีพวกมากลากไป จากการถกเถียงเจ้านายในห้องประชุม ต่อหน้าสาธารณะชน เพราะจะทำให้เค้ารู้สึกว่าถูกคุกคาม หรือคิดไปได้ว่า เรากำลังจะฉีกหน้าเค้า ซึ่งผลที่ตามมาคงไม่ดีแน่
ให้หาจังหวะคุยกันสองคนจะเหมาะกว่า
 
3. หาเป้าหมายร่วมกัน (Shared goal)
อะไรที่เป็นเป้าหมายร่วมกัน เช่น ยอดขาย KPI ทีม ผลงาน ความเสี่ยง ที่ต้องรับผิดและรับชอบร่วมกัน
ถ้าเป้าหมายนั้นใหญ่ และส่งผลกระทบกับตัวหัวหน้าเองหรือคนทั้งทีม เป็นการพูดในฐานะทีมเดียวกัน จะทำให้ภาพชัด ไม่เป็นเรื่องส่วนตัว หรือโจมตีไปที่ตัวคน
 
4. ขออนุญาตแสดงความไม่เห็นด้วย
เป็นเทคนิคที่หยิบยื่น “การควบคุม” ให้กับหัวหน้า
ประโยคง่ายๆ เช่น
หนูคิดว่า ทำแบบนี้มันอาจจะไม่เวิร์ค หนูขออธิบายเหตุผลได้มั้ยคะ
หรือเพิ่มดีกรีความซอฟท์อีกหน่อย
…หนูคิดว่ามีทางอื่นที่น่าสนใจไม่แพ้กัน หัวหน้าอยากลองฟังมั้ยคะ
 
 
5. ใจร่มๆ (Stay calm)
บางครั้งการถกเถียงหรือไม่เห็นด้วย อาจทำให้อารมณ์เราขุ่นมัว จนอาจจะแสดงออกมาทางร่างกาย เช่น สีหน้า น้ำเสียง ท่าทาง และทำให้บทสนทนาเลวร้ายขึ้นไปอีก เช่น การพูดในวอลุ่มเสียงที่ดังกว่าการพูดปกติ อาจถูกตีความเป็นการขึ้นเสียง ตะคอก หรือใช้อารมณ์
สูดลมหายใจลึกๆ พูดให้ช้าลง และคุมน้ำเสียงให้เป็นปกติ จะช่วยให้การตีความ Body language ไม่ผิดเพี้ยนไป
 
6. ย้ำสิ่งที่ไม่เห็นด้วยอีกซักรอบ
เพื่อแสดงให้เห็นว่า เราเข้าใจในสิ่งที่เค้าต้องการสื่อสาร ไม่ได้ตีความผิด และเราเข้าใจดี
 
7. อย่าตัดสิน
ให้หลีกเลี่ยงการใช้คำพูด หรือแสดงอาการที่ตัดสิน เช่น การถอนหายใจ การพูดคำว่า “ผิด” หรือ “ถูก”
 
8. ถ่อมตัวเข้าไว้
เช่น การย้ำว่าเป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวของตัวเอง ไม่ต้องยกคำพูดหรือความเห็นของคนนั้นคนนี้มา
 
9. ย้ำให้หัวหน้า หรือ ผู้มีอำนาจว่า ยังไงซะ เค้าก็เป็นคนตัดสินใจ
เราเป็นลูกน้อง เค้าเป็นหัวหน้า และเป็นการให้ทางเลือก ไม่ใช่การกดดันหรือบีบบังคับให้ต้องคิดแบบเรา
ทั้งหมดนี้ เป็นความคิดเห็นของหนู หัวหน้าจะตัดสินใจอย่างไร เป็นวิจารณญาณของหัวหน้าค่ะ
ลองฝึกทักษะการเถียงหัวหน้าให้คล่องๆครับ อนาคต หน้าที่การงาน จะได้รุ่งเรือง
หัวหน้าที่ดี คือ คนที่รับฟังความเห็นที่แตกต่าง ไม่อาฆาตมาดร้ายลูกน้องที่แสดงความไม่เห็นด้วยอย่างมีเหตุผลและสร้างสรรค์