MasterClass ผู้สร้างคอร์สเรียนระดับโลก เจ้าของสโลแกน “Learn from the best" จะรุ่งหรือจะร่วง
เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. David Rogier ซีอีโอของ MasterClass โพสต์ลง LinkedIn และ Twitter ประกาศปลดพนักงานกว่า 120 คน จากจำนวนทั้งหมด 600 คน (คิดเป็นสัดส่วน 20% ซึ่งถือว่าไม่น้อย) โดยให้เหตุผลว่า สถานการณ์เศรษฐกิจ ไม่ค่อยดีและเพื่อให้ธุรกิจของบริษัท อยู่รอดได้เร็วขึ้น ก่อนจะมาดูว่าเกิดอะไรขึ้น
เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. David Rogier ซีอีโอของ MasterClass โพสต์ลง LinkedIn และ Twitter ประกาศปลดพนักงานกว่า 120 คน จากจำนวนทั้งหมด 600 คน (คิดเป็นสัดส่วน 20% ซึ่งถือว่าไม่น้อย) โดยให้เหตุผลว่า สถานการณ์เศรษฐกิจ ไม่ค่อยดีและเพื่อให้ธุรกิจของบริษัท อยู่รอดได้เร็วขึ้น
ก่อนจะมาดูว่าเกิดอะไรขึ้น ผมขอเล่าย้อนถึงประวัติซักเล็กน้อย
MasterClass คือ แพลตฟอร์มการเรียนออนไลน์ที่มี concept ว่า “Learn from the best” หรือ เรียนจากคนที่ดีที่สุด
เป็นการเอาบุคคลที่มีชื่อเสียงระดับท๊อปของโลกในแต่ละเรื่อง มาผลิตเป็นคอร์สเรียนออนไลน์ ในคุณภาพระดับเดียวกับการทำหนัง (โดยจ้าง producer ทำหนัง กับกองถ่าย ทีมงานทำหนังเลย)
และนำเสนอในรูปแบบของ Education documentary ที่แปลกใหม่ ทำให้การเรียนดูสนุกและไม่น่าเบื่อ
ผู้สอนแต่ละคน ดังระดับโลกจริงๆ
ไม่ว่าจะเป็น
- Gordon Ramsay เชฟทำอาหารระดับโลก
- Bill Clinton และ George W. Bush อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ
- Hillary Clinton ภรรยา Bill Clinton อดีตคู่ชิงประธานาธิบดี สหรัฐฯกับทรัมป์
- Natalie Portman ดาราดังที่เล่นเป็น เจน ฟอสเตอร์ แฟนสาวของเทพเจ้าสายฟ้า Thor
- Sir Richard Branson ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Virgin
- Serena Williams นักเทนนิสหญิงระดับตำนาน
- Stephen Curry นักบาสเกตบอล NBA ระดับโลกจากทีม Golden State Warriors
- Mariah Carey นักร้องระดับตำนานของวงการเพลง
- James Cameron ผู้กำกับ Titanic และ Avatar
- และอีกเยอะมากกกกกกก
ถือว่าสร้างความหวือหวาให้กับโลกการศึกษาได้พอสมควร
MasterClass ก่อตั้งในปี 2012 โดย Aaron Rasmussen และ David Rogier
เงินทุนตั้งต้นก้อนแรก (seed funding) จำนวน 500,000 ดอลลาร์ ได้มาจาก Michael Dearing ศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ที่เป็นอาจารย์ของ David ในสมัยเรียน MBA และเป็นผู้ก่อตั้ง VC ที่ลงทุนใน seed stage ชื่อว่า Harrison Metal
หลังจากเรียนจบ David มาทำงานช่วยอาจารย์ของเค้าได้ราว 1 ปี ก่อนจะเดินมาบอก Michael ว่า จะขอลาออกไปทำธุรกิจของตัวเอง
ที่น่าสนใจ คือ David ไปแจ้งลาออกกับศาสตราจารย์ Michael ทั้งที่ยังไม่รู้ว่าตัวเองจะทำอะไร และยังไม่มีไอเดียอะไรเลย
อาจารย์ก็โคตรใจดี ให้เงินลูกศิษย์ครึ่งล้านดอลลาร์ เอาไปตั้งตัว
คิดออกว่าจะทำอะไร ก็ขอถือหุ้นด้วยละกัน (ดีจัง55)
David ใช้เวลาอยู่ราวๆ 1 ปี จนในที่สุดก็คิดออกว่าจะทำอะไร เลยไปชวน Aaron มาทำ MasterClass ด้วยกัน
ตัวเค้าเองรับหน้าที่เป็นซีอีโอ ส่วน Aaron ควบ 2 ตำแหน่ง คือ ซีทีโอ (Chief Technology Officer ) และ Creative Director ก่อนที่ Aaron จะลาออกไปในปี 2017
ในปี 2018 Aaron Rasmussen ได้ออกมาตั้ง startup ด้าน Education ชื่อ Outlier.org โดยทำในรูปแบบคล้ายๆกันกับ MasterClass แต่เพิ่มความเข้มข้นในการเรียน คือ เรียนจบแต่ละวิชา จะได้เครดิตที่รับรองโดย University of Pittsburgh
Outlier ได้รับเงินลงทุน Series B จำนวน 46 ล้านดอลลาร์เมื่อปีก่อน
ซึ่ง 1 ในคนที่ให้เงินทุนกับ Outlier ก็คือ Harrison Metal ของอาจารย์ ของ David ที่ลงทุนใน MasterClass ด้วย
(รอบนี้ ไม่ได้ลง seed แต่ลงพร้อมกับ GV หรือชื่อเดิม คือ Google Ventures ใน Series B )
ส่วน MasterClass ก็ระดมทุนไปทั้งหมด 10 รอบ เป็นรอบใหญ่ 7 รอบ (Seed, Series A – F กับรอบย่อยๆอีก 3 รอบ)
ได้รับเงินลงทุนรวมทั้งหมดราวๆ 461.4 ล้านดอลลาร์ (ก็ราวๆ 17,000 ล้านบาท)
พระเจ้า raise fund โคตรเก่ง !! ตั้งแต่ยังไม่มีไอเดียอะไรเลย ยัน Series F
(David ควรเปิด MasterClass สอนการระดมทุนนะเอาจริงๆ)
MasterClass มีนักลงทุนกว่า 43 คนเข้ามาถือหุ้น บริษัทมีมูลค่าอยู่ที่ราวๆ 2,750 ล้านดอลลาร์ ได้สถานะเป็นยูนิคอร์น
นักลงทุนที่ดังที่สุดของ MasterClass น่าจะเป็น Robert Downey Jr. ที่ลงทุนไปตอน Series B จำนวน 15 ล้านดอลลาร์ในนามบริษัท Downey Ventures
(ซึ่งถือว่าเบาๆ เพราะปีนั้น แกได้เงินค่าจ้างจากการเล่นหนัง Captain America : Civil War ไปเหนาะๆ 64 ล้านดอลลาร์)
มีกองทุน Bloomberg Beta ของ Michael Bloomberg มาร่วมด้วยอีกคน
MasterClass ระดมทุนได้มหาศาล นักลงทุนดังๆเยอะ เข้ามาช่วยกันผลักดัน เอา connection ดึงคนดังอื่นๆมาสร้างคอร์ส
และยังได้อานิสงค์จากช่วงโควิด ช่วยให้ MasterClass มีจำนวนผู้ใช้เติบโตกว่า 10 เท่า
ทุกอย่างดูดีไปหมด แล้วเกิดอะไรขึ้นกับ MasterClass ?
ตีความหมายในภาษาของคนทำ startup สิ่งที่ David ซีอีโอของ MasterClass ทำ คือ การลด Burn rate เพื่อขยายรันเวย์ออกไปให้ได้นานขึ้น
สถานการณ์ที่ MasterClass น่าจะเจออยู่ในตอนนี้
- Burn Rate ที่เร็วมาก จากการขยายทีมอย่างรวดเร็ว และพยายามจะขยายสเกลธุรกิจในระดับโลก จนทำให้ขาดทุนสะสมมายาวนานต่อเนื่อง
- การจ้างงานของ MasterClass ในระดับผู้บริหาร เป็นการดึงผู้บริหารจากยักษ์ใหญ่ด้านคอนเทนต์และสตรีมมิ่ง ค่าตัวของผู้บริหารรวมกันน่าจะสูงมาก
- MasterClass ผ่านการระดมทุนมาถึง 10 ครั้ง และรอบล่าสุด valuation บริษัทอยู่ที่ 2,750 ล้านดอลลาร์ ถือว่าสูงพอสมควร ไม่ง่ายถ้าจะระดมทุนรอบต่อไป เลยต้องยิ่งพยายามสเกล (เบ่งตัวให้ใหญ่ จะได้เรียกราคาสูงๆได้)
- ต้นทุนการเอาเซเลบมาสอนนั้นสูงมาก รูปแบบ คือ การจ่ายเงินค่าจ้างเป็นก้อน อย่างน้อย ก็ 100,000 ดอลลาร์ + ส่วนแบ่งรายได้ (โมเดลเดียวกับการจ้างดาราเล่นหนัง)
- ค่าใช้จ่ายด้านการตลาดส่วนใหญ่ คือ โฆษณาบน Facebook, Instagram และ YouTube ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นมากจากปีก่อนๆ
- สถานการณ์โลกและภาวะเศรษฐกิจตอนนี้ แย่กว่าปีก่อน เงินลงทุนจาก VC อยู่ในสถานะหดตัว ชะลอการลงทุน (ข้อมูลจาก CB Insights ไตรมาสที่ผ่านมา บอกว่า VC funding ตกลงที่สุดในรอบ 10 ปี) ทำให้การระดมทุนของ startup นั้น ยากกว่าในสถานการณ์ปกติมาก
- คิดว่าบริษัทน่าจะกำลังเตรียมระดมทุนรอบต่อไปอยู่ เพราะรู้ชะตากรรม จึงต้องรัดเข็มขัด ลดต้นทุนให้มาก เพื่อขยายรันเวย์ + มีความเสี่ยงที่อาจจะระดมทุนไม่สำเร็จ หรืออาจจะเกิด down round ได้ (valuation ลดลงในการระดมทุนครั้งต่อไป)
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ MasterClass ทำอยู่ แม้จะหวือหวา น่าตื่นเต้น
แต่ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อย
ไม่ว่าจะเป็นจากนักการศึกษา อาจารย์มหาวิทยาลัย ที่บอกว่า สมองคนเรา ไม่ได้เรียนรู้ด้วยวิธีการนั่งดูวิดีโอลักษณะแบบที่ MasterClass ทำ
หรือแม้กระทั่งผู้ใช้เอง ที่สมัครสมาชิกในปีแรกและยกเลิกในปีต่อมาเป็นจำนวนมาก (แม้กระทั่งขอเงินคืนภายใน 30 วัน) ด้วยเหตุผลที่ว่า เค้าต้องการดูแค่คอร์สนี้ คนนี้ ไม่ได้ต้องการดูคอร์สหรือเซเลบคนอื่นๆ เพราะไม่ได้สนใจเรื่องนั้น หรือไม่เกี่ยวกับชีวิต หน้าที่การงานของเค้าเลย
กับอีกบางส่วน มองว่า MasterClass ก็ไม่ต่างอะไรกับ รายการ talkshow หรือคลิปสร้างแรงบันดาลใจจากคนดัง ที่มีอยู่เต็ม YouTube และมีเนื้อหาแบบ high level มาก จนรู้สึกว่า จับต้องอะไรไม่ค่อยได้
มากไปกว่านั้น คนจำนวนมากเชื่อว่า “Learn from the best” อาจจะไม่ได้แปลว่าดีที่สุดเสมอไป เพราะ หลายคนก็คิดว่า คนที่มาสอนใน MasterClass ไม่ใช่คนที่ปฏิบัติหรือสร้างความสำเร็จนั้นจริง
ความสำเร็จนั้นอาจมีเบื้องหลังอื่น หรือเก่งเพราะทีมงาน ผู้บริหารคนอื่น
หรือ “Learn from the best” คนที่เป็น the best ไม่ได้แปลว่าจะสอนดี สอนเก่ง
และมีหลายคนบอกว่า เค้าอยากเรียนรู้จากคนเก่งที่ไม่ต้องดังมาก แต่ลงมือทำจริง ให้คำแนะนำเค้าได้ เข้าถึงได้ พูดคุยได้
อดีตสมาชิกบอกว่า ถ้าอยากพัฒนาทักษะจริงๆ ให้ไปสมัครสมาชิก Skillshare หรือซื้อคอร์สจาก Coursera, Udemy จะดีกว่า (มีคนรีวิวเทียบ MasterClass vs. Skillshare เยอะ)
สิ่งที่ทุกคนยอมรับ MasterClass เหมือนกัน คือ คุณภาพการถ่ายทำที่สูงมาก และตัวคอนเทนท์ก็สร้างแรงบันดาลใจที่ดี
กลายเป็นว่าตอนนี้ภาพของ MasterClass ไม่ใช่ธุรกิจ EdTech
แต่เป็นบริษัทที่ผลิต documentary สำหรับการศึกษาที่ดี ในฐานะผู้ผลิตคอนเทนต์ประเภทที่เรียกว่า Non-scripted Entertainment และอยู่ในธุรกิจเดียวกับ Netflix หรือ Discovery
ถ้ามองจากผู้บริหารระดับคีย์แมนของ MasterClass ก็ดูมีทิศทางเป็นแบบนั้น
ทั้งการไปดึงตัว อดีต President ของ HBO Film มาเป็น Chief Content Officer ซึ่งเหตุผลนึงก็เพื่อดึงคนจากวงการบันเทิง มาทำคอร์ส
กับการดึงตัวอดีต Head of Production ของ Amazon Studios มาดูด้าน Content Operations
และดึงผู้บริหารจาก Hulu สตรีมมิ่งเจ้าใหญ่ในอเมริกา มาช่วยวางกลยุทธ์การตลาด
ครั้งหนึ่ง MasterClass ก็เคยได้รับข้อเสนอถูกซื้อกิจการจากค่ายหนังรายใหญ่ แต่ David ซีอีโอก็ปฏิเสธไป
ความท้าทายของ MasterClass ตอนนี้ คือ เส้นทางที่ดูไปในสายคอนเทนต์ มากกว่าสายการเรียน และถ้าระดมทุนกับโตเร็วไม่พอ ไม่เจ๊งไปก่อนก็น่าจะถูกผู้ให้บริการสตรีมมิ่งรายใหญ่เจ้าใดเจ้าหนึ่ง ซื้อไป
และแนวคิดที่ว่า “Learn from the best” นั้นถูกตั้งคำถามว่า ดีจริงรึเปล่า…
เพราะแม้แต่ Aaron Rasmussen ผู้ร่วมก่อตั้ง MasterClass ก็ยังโบกมือลา เพื่อออกไปตั้ง Outlier และมุ่งไปคนละเส้นทางกับ MasterClass เลย
ใครที่เห็นโพสต์นี้ เคยเป็นสมาชิก MasterClass , ยังเป็นสมาชิกอยู่ หรือกำลังคิดว่าจะสมัคร ลองแชร์กันได้นะครับ ว่าทำไมถึงสมัคร ทำไมถึงยกเลิก และเชื่อว่า “Learn from the best” เป็นแนวทางการเรียนที่ถูกต้องรึเปล่า