กลยุทธ์ “Netflix Everywhere” และแผน Global Expansion ยึดครองโลกทีวี

กลยุทธ์ “Netflix Everywhere” และแผน Global Expansion ยึดครองโลกทีวี ช่วงนี้มีข่าวน่าสนใจเกี่ยวกับ Netflix เลยขอจับประเด็นกลยุทธ์มาขยายหน่อยครับ “สิทธิ์ในการเผยแพร่คอนเทนต์” ปัญหาใหญ่ของ Netflix กลยุทธ์ที่ Netflix ใช้ สำหรับ “Netflix Everywhere” ที่ประกาศบนเวที CES 2016 ไม่ใช่การเอาหนังและ series ที่ฉายในอเมริกา ไปให้บริการที่ประเทศอื่นทั้งหมด เนื่องจากติดปัญหาเรื่อง “สิทธิ์ในการเผยแพร่” ที่ทำกับเจ้าของคอนเทนต์แต่ละค่าย สิทธิ์ที่ว่า จะถูกจำกัดโดย Geolocation หรือ สถานที่ตั้ง ประเทศ ที่ให้บริการ ซ

กลยุทธ์ “Netflix Everywhere” และแผน Global Expansion ยึดครองโลกทีวี

ช่วงนี้มีข่าวน่าสนใจเกี่ยวกับ Netflix เลยขอจับประเด็นกลยุทธ์มาขยายหน่อยครับ

“สิทธิ์ในการเผยแพร่คอนเทนต์” ปัญหาใหญ่ของ Netflix

กลยุทธ์ที่ Netflix ใช้ สำหรับ “Netflix Everywhere” ที่ประกาศบนเวที CES 2016 ไม่ใช่การเอาหนังและ series ที่ฉายในอเมริกา ไปให้บริการที่ประเทศอื่นทั้งหมด เนื่องจากติดปัญหาเรื่อง “สิทธิ์ในการเผยแพร่” ที่ทำกับเจ้าของคอนเทนต์แต่ละค่าย
สิทธิ์ที่ว่า จะถูกจำกัดโดย Geolocation หรือ สถานที่ตั้ง ประเทศ ที่ให้บริการ ซึ่งอาจจะตกลงกันเป็นประเทศหรือเป็นภูมิภาค (region) ก็ได้
ทางด้านเทคนิค Netflix สามารถให้บริการได้ทั่วโลก ไม่มีปัญหา ตราบใดที่อินเตอร์เน็ตเข้าถึง
แต่สิทธิ์ในการเผยแพร่ เป็นสิ่งที่จำกัดการเติบโตของ Netflix ไว้
Netflix รู้ตัวและตระหนักดีครับ เพราะในช่วง 3–4 ปีที่ผ่านมา ค่าสิทธิ์ที่จ่ายให้กับค่ายหนังค่อนข้างมหาโหดมาก
ปี 2014 จ่ายค่าคอนเทนต์ไป 4 พันล้านเหรียญ และปี 2015 จ่ายไปอีก 3 พันล้านเหรียญ (รวมค่าคอนเทนต์ 2 ปี เกือบซื้อกิจการ Spotify ได้ทั้งบริษัท)
ปัญหานี้ดูเหมือนจะเริ่มบานปลายและเป็นภาระทางธุรกิจอย่างมาก เพราะค่ายหนังเห็น Netflix เติบโตเร็วมากๆ จึงอยาก “ขึ้นราคา” เพื่อให้ได้ส่วนแบ่งมากขึ้น
ไม่ใช่แค่แพงขึ้นเพียงอย่างเดียวครับ ค่ายหนังยังไม่ยอมทำสัญญาแบบ exclusive กับ Netflix อีก ทำให้หนังและซีรีย์ดีๆหลายเรื่อง สามารถดูได้บนบริการของคู่แข่งอย่าง Hulu และ Amazon Prime VDO ทำให้ความโดดเด่นและแตกต่างลดน้อยลง
เดือนกันยายน 2015 ที่ผ่านมา Netflix จึงตัดสินใจไม่ต่อสัญญากับ Epix เพราะไม่ค่อยพอใจที่คู่แข่งอย่าง Amazon ได้หนังเรื่องเดียวกันไปฉาย ในขณะที่ค่าสิทธิ์ในการต่อสัญญาก็สูงถึง 1 พันล้านเหรียญ
ส่งผลให้หนังดังอย่าง The Hunger Games, Transformer หายไปจาก library หนังของ Netflix ทันที เพราะ Epix เป็นคนดูแลสิทธิ์ให้ค่ายหนังอย่าง Lionsgate , MGM และ Paramount
— — — —

ค่ายหนังและ Cable TV มอง Netflix เป็นคู่แข่งแย่งคนดู

นอกจากเรื่องราคาที่สูงขึ้น บางครั้งเจ้าของคอนเทนต์ ก็มองว่า Netflix เป็น threat ที่มีอำนาจต่อรองในมือสูงและกำลังสร้างบริการที่จะมาแย่งคนดูของช่องตัวเอง
ตัวอย่าง เช่น ค่าย Starz (เจ้าของสิทธิ์ซีรีย์ดังอย่าง Blacksail , Sparcus และ Power) ไม่ยอมต่อสัญญากับ Netflix ในเดือนกันยายน ปี 2011 แม้ว่า Netflix จะยอมทุ่มถึงปีละ 300 ล้านเหรียญ เพื่อซื้อสิทธิ์ในการสตรีมมิ่ง
หลังจากดีลล้มเพียง 2 เดือน Starz ก็เปิดตัวบริการ VDO Streaming ของตัวเอง และภายในปีเดียว ยอดสมาชิกของ Starz เพิ่มสูงขึ้นจาก 19% เป็น 22% จากเดิมที่เทรนด์อยู่ในช่วงขาลงและมีสมาชิกลดลงทุกเดือน
เป็นเหตุผลเดียวกันว่าทำไม True Detective และ Game of Thrones ถึงไม่มีใน Netflix เพราะ HBO ไม่ยอมให้สิทธิ์กับ Netflix
แถมเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2015 CEO ของ Time Warner บริษัทแม่ของ HBO และค่ายหนังใหญ่อย่าง Warner Bros. ออกมาประกาศว่า อนาคตจะลดจำนวนคอนเทนต์ที่ให้ Netflix น้อยลง จนถึงอาจจะไม่ให้เลย
ในขณะเดียวกันก็มีข่าวว่า Time Warner จะเข้าไปถือหุ้นบางส่วนของ Hulu คู่แข่งรายสำคัญของ Netflix เพื่อปล่อยคอนเทนต์บางส่วนไปให้สมาชิก Hulu ได้ดูกัน
เหตุผลสำคัญ คือ จำนวนสมาชิกของ Netflix ในสหรัฐฯ แซงหน้าจำนวนสมาชิก HBO บริษัทแม่ของ HBO เลยต้องเล่นเกมไปหนุนเบอร์ 2 ให้แข่งกับ Netflix เพื่อตัดกำลังไปในตัว
จากรายงานของ AC Nielsen ปี 2014 เรตติ้งของทีวีในอเมริกาในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ตกลงถึง 40% เพราะคนดูย้ายไปดูแบบ streaming แทน ทั้ง Netflix , Hulu และ Amazon Prime VDO
เฉพาะไตรมาส 3 อย่างเดียว คนเลิกดูทีวีไป 11 ล้านบ้าน
เทรนด์ที่เกิดขึ้น ส่งผลต่อมุมมองของนักลงทุนอย่างมาก
ปี 2015 หุ้นของสื่อใหญ่และค่ายหนังดังอย่าง Disney, Time Warner, 21st Century Fox, CBS, Viacom และ Discovery มี market cap หายไปรวมกันกว่า 80,000 ล้านเหรียญ (เฉพาะ 21st Century Fox ก็หายไปถึง 30.2% มี Disney ที่บวกเพิ่ม)
ในขณะที่หุ้นของ Netflix กลายเป็นหุ้นที่มี performance สูงที่สุดในดัชนี S&P 500 โดยราคาพุ่งขึ้นไปกว่า 135% (ดัชนี S&P 500 เฉลี่ย ตกไป 0.73%)
อำนาจต่อรองอยู่ในมือของ Netflix มากขึ้นเรื่อยๆ

Netflix ปรับกลยุทธ์ ลดการพึ่งพาเจ้าของคอนเทนต์

Netflix แก้เกมค่าสิทธิ์คอนเทนต์มหาโหด ด้วยการปรับกลยุทธ์ด้านคอนเทนต์ใหม่ เริ่มผลิตและสร้างเองเลย เพื่อลดค่าใช้จ่ายมหาศาลด้านคอนเทนต์
เริ่มต้นจากการผลิตซีรีย์ 2 เรื่อง ในปี 2013 คือ House of Cards และ Orange is the new Black
ปรากฏว่าได้รับการตอบรับดีมากๆจากคนดู และเข้าชิงรางวัลต่างๆมากมาย
season แรกของ House of Cards เข้าชิงรางวัล Emmy Award 2013 จำนวน 9 สาขา
season ต่อมาเข้าชิง Emmy Award 2014 อีก 13 สาขา
และในปี 2015 ซีรีย์ที่ Netflix สร้างเข้าชิงถึง 34 สาขา
แม้จะเป็นซีรีย์ที่ทำให้ดูเฉพาะออนไลน์ แต่ก็ประสบความสำเร็จไม่น้อยไปกว่าซีรีย์ที่ทำฉายทีวี
จนถึงวันนี้ Netflix สร้างซีรีย์เองแล้วกว่า 28 เรื่อง รวมถึงซีรีย์ภาษาสเปนสำหรับฉายในประเทศเม็กซิโก และกำลังจะสร้างซีรีย์อิตาเลียน ชื่อ Suburra เพื่อให้ลูกค้าในยุโรปดู
ปี 2015 Netflix สร้างซีรีย์ไปแล้ว 6 เรื่อง
ปี 2016 Netflix มีแผนจะสร้างซีรีย์เพิ่ม อีก 31 เรื่อง มีสารคดี อีก 12 เรื่อง และมีสารคดีชุดหลายๆตอน อีก 2 เรื่อง
และปี 2016 จะเป็นปีที่ Netflix เน้นกลุ่มเด็กมาก
เพราะจากข้อมูลพฤติกรรมการดูของผู้ใช้ Netflix เอง พบว่า กว่า 50% ของ Household ทั้งหมด ดูคอนเทนต์เด็กเป็นประจำ
สอดคล้องกับรายงานชื่อ “Digital Video Report” ปี 2015 ของ Adobe ที่บอกว่า คอนเทนต์อันดับหนึ่งที่ถูกสตรีมดูมากที่สุด คือ คอนเทนต์เด็ก ซึ่งมากกว่าการดูซีรีย์และหนังถึง 6 เท่า
Netflix จึงตัดสินใจ ทำซีรีย์สำหรับเด็กโดยเฉพาะ เพิ่มอีก 30 เรื่อง

ครั้งแรกของโลก ที่สตรีมมิ่ง ฉายชนหนังโรง

นอกจากซีรีย์และสารคดีต่างๆ Netflix ยังได้เริ่มสร้างหนังของตัวเองโดยมีการเซ็นสัญญาร่วมสร้างหนังกับ Adam Sandler เผื่อสร้างหนังจำนวน 4 เรื่อง สำหรับฉายแบบสตรีมมิ่งเฉพาะ Netflix
ซึ่งสร้างเสร็จแล้วเปิดให้ดูได้แล้ว 1 เรื่อง คือ The Ridiculous Six เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
นอกจาก 4 เรื่องที่ทำกับ Adam Sandler แล้ว ยังมีหนังที่สร้างร่วมกับผู้ผลิตรายอื่นอีก 10 เรื่องที่กำลังอยู่ในขั้นตอน Production (หนังเอเชียอย่าง Crouching Tiger, Hidden Dragon ก็อยู่ใน 10 เรื่องนี้)
เมื่อ 16 ตุลาคม ปี 2015 หนังเรื่อง “Beasts of No Nation” ซึ่งเป็นเรื่องแรกที่ Netflix สร้าง ถูกฉายเป็นครั้งแรกพร้อมกันทั้งในโรงหนังและสตรีมมิ่ง
เป็นครั้งแรกของโลก ที่มีการฉายพร้อมกัน
(ปกติหนังแบบสตรีมมิ่งจะมีให้ดูเร็วสุด คือ ออกจากโรงประมาณ 3 เดือน ซึ่งค่ายหนังเจ้าของสิทธิ์ เป็นคนกำหนดระยะเวลาการปล่อยสิทธิ์ในแต่ละช่องทาง ซึ่งระยะเวลานี้ ศัพท์ในวงการ เรียกว่า “Release Windows” หรือสั้นๆว่า Windows)
หนังเรื่องนี้ถูกเครือโรงหนังยักษ์ใหญ่ในอเมริกา ทั้ง AMC Cinemas , Carmike Cinema , Cinemark และ Regal Entertainment ปฏิเสธไม่ให้เข้าฉาย เพราะไม่พอใจที่ Netflix ให้สตรีมพร้อมกับการฉายในโรง
เหลือเครือเดียว คือ เครือ Landmark Cinemas ที่ยอมให้ฉายทั้งหมด 31 โรง ใน 19 เมืองทั่วสหรัฐอเมริกา
หนังเรื่องนี้จึงทำรายได้รวมจากการฉายในโรง ไม่ถึง 100,000 เหรียญ
ไม่ใช่ว่าหนังแป้กนะครับ เพราะ “Beasts of No Nation” ถูกดูไปกว่า 3 ล้านครั้งบน Netflix ในช่วง 10 วันแรก จากกลุ่มคนดูทั่วโลก
กลายเป็นหนังที่ถูกดูมากที่สุดของ Netflix ไปเลย
จะเห็นได้ว่า ไม่ใช่แค่ Cable TV และ TV Networks ที่มอง Netflix เป็นคู่แข่ง
ตอนนี้โรงหนัง ก็เริ่มมอง Netflix เป็น threat แล้วเช่นกัน เพราะ Netflix กำลังดึงความได้เปรียบเรื่องการเข้าฉายในโรงหนังก่อน ไปจากพวกเค้านั่นเอง

ทำไมซีรีย์ดังอย่าง House of Cards ไม่มีในไทย?

คนที่ลองใช้ Netflix ในไทย อาจสงสัยว่า ทำไม ไม่มี House of Cards ให้ดู ทั้งที่เป็น original contents ของ Netflix แท้ๆ
House of Cards เป็น original series ของ Netflix จริง แต่ ผู้สร้างไม่ใช่ Netflix ครับ แต่เป็นสตูดิโอที่ชื่อว่า Media Rights Capital (MRC)
โปรเจคต์นี้ เกิดขึ้นในปี 2011 ก่อนที่จะสร้าง ทาง MRC ได้นำเสนอกับ Cable TV Network อย่าง AMC, HBO , Showtime
แต่ปรากฏว่าผู้เสนอราคาสูงสุดในครั้งนั้น คือ Netflix ที่ทุ่มเงินมากกว่าใคร เพราะมีข้อมูลพฤติกรรมการดูคอนเทนต์ของผู้ใช้ว่า ถ้าเป็นซีรีย์ที่ David Fincher สร้าง และ Kevin Spacey เป็นนักแสดง จะได้รับความนิยมสูงจากหมู่สมาชิกของตัวเอง
ในครั้งนั้น Netflix ได้สิทธิ์ในการเผยแพร่แบบสตรีมมิ่งแต่เพียงผู้เดียวในสหรัฐฯ (Exclusive Rights)
ในขณะที่ Sony Pictures เป็นผู้ดูแลสิทธิ์ประเภทอื่น ทั้ง Home DVD, Bluray และสตรีมมิ่งออนไลน์ในต่างประเทศ นอกสหรัฐอเมริกา
(สิทธ์จะแยกกัน คือ สิทธิ์ในฐานะผู้สร้าง และสิทธิ์ในฐานะผู้จัดจำหน่าย คนสร้างคนผลิตก็ทำไป คนจัดจำหน่าย คือ คนที่ ขายและหาทางทำรายได้จากคอนเทนต์ตัวนั้นๆ)
ต่อมา Comcast ซึ่งเป็น Cable TV รายใหญ่สุดของสหรัฐฯก็ได้สิทธิ์ฉายแบบออกอากาศ (Broadcasting Rights) เรื่อง House of Cards มาจาก Sony Pictures
ซึ่งต่างประเทศ นอกสหรัฐฯ มี Cable TV ในออสเตรเลีย ชื่อ Foxtel ได้สิทธิ์ในการเผยแพร่ House of Cards จาก Sony Pictures (Foxtel ได้ทั้งสิทธิ์ในการออกอากาศ กับช่อง Showcase ของตัวเองและสิทธิ์ในการสตรีมมิ่งออนไลน์)

Local & Original contents กุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จ

กลยุทธ์หลักที่ Netflix ใช้ในการขยายตลาดทั่วโลก จะไม่ใช่การซื้อสิทธิ์ฉายจาก studios ในฮอลลีวูดเป็นหลักอีกต่อไป (เพราะแพงมากๆ แค่ในสหรัฐฯ ก็คิดเป็นหลักพันล้านเหรียญแล้ว)
แต่เปลี่ยนไปเน้นการทำ local contents กับ local production studio ทั่วโลกร่วมกัน
ปีก่อน Netflix ใช้เงินสร้างคอนเทนต์ของตัวเอง คิดเป็นสัดส่วน 10% ของงบที่ใช้ซื้อคอนเทนต์ทั้งหมด
ปีนี้จึงตั้งเป้าใหม่ว่า จะปรับเป็น 50%
แผน Global Expansion ครั้งนี้ Netflix เตรียมเงินกว่า 5 พันล้านเหรียญ ซึ่งเป็นงบด้านคอนเทนต์ที่สูงที่สุดที่เคยจ่ายมา
เป้าหมายหนึ่งที่ในซื้อคอนเทนต์ อยู่ที่เกาหลี ที่ Netflix ตั้งใจจะเอาคอนเทนต์มาให้ดูแบบทั่วโลก ไม่เฉพาะในเกาหลีอย่างเดียว ทั้งการซื้อคอนเทนต์ที่มีอยู่แล้ว และการร่วมมือกับผู้ผลิตจากเกาหลี สร้างขึ้นมาใหม่สำหรับ Netflix โดยเฉพาะ
เมื่อเดือน พฤศจิกายน 2015 Netflix ทุ่มเงิน 50 ล้านเหรียญ เพื่อลงทุนสร้างหนังเกาหลีเรื่อง Okja ที่กำกับโดย Bong Joon Ho ผู้กำกับมือฉมัง ที่ทำหนังเรื่อง Snowpiercer จนดังถล่มทลาย ติดอันดับหนังทำเงินสูงสุดตลอดกาลของเกาหลี
Netflix มั่นใจว่าคอนเทนต์เกาหลี อินเตอร์พอที่จะขายได้ทั่วโลก
ในเอเชีย Netflix ก็ตั้งทีมสำหรับซื้อคอนเทนต์และทีมพาร์ทเนอร์คอนเทนต์ที่จะหาผู้ร่วมผลิตหนังและซีรีย์สำหรับฉายใน Netflix ของประเทศนั้นๆโดยเฉพาะ ซึ่งรูปแบบนี้ทำไปแล้วที่ประเทศฝรั่งเศสและเม็กซิโก
Netflix เชื่อว่า บริการของตัวเอง จะยึดครองโลกนี้ได้ ด้วยคอนเทนต์ที่ตัวเองผลิตขึ้นเอง ร่วมกับผู้ผลิตในแต่ละประเทศ เพราะคนแต่ละประเทศ มีความต้องการและความชื่นชอบที่แตกต่างกัน (ตย.เช่น ซีรีย์อเมริกัน อาจจะไม่นิยมเท่าละครน้ำเน่าบ้านเรา)
ในขณะที่คู่แข่งเบอร์ 2 อย่าง Hulu กลับทุ่มเงินซื้อสิทธิ์จากค่ายหนังไปมากมาย ทั้งจาก Epix (เสียบแทน Netflix) และสิทธิ์แบบ exclusive กับค่าย Turner Boardcasting (เจ้าของ CNN , Cartoon Network , Boomerang , NBA TV และ TNT)
Hulu เคยเข้าตลาดญี่ปุ่นแล้วเจ๊ง เพราะราคาแพง (ใช้ราคาในสหรัฐฯไปขาย) และดูได้แต่หนังฮอลลีวูด
จนต่อมาภายหลัง Hulu ออกมายอมรับว่า การขยายไปแต่ละประเทศ จะต้องมีคอนเทนต์ที่คนประเทศนั้นๆนิยมดูเป็นหลัก ซึ่ง Hulu ยังไม่มีทิศทางแบบนั้น จึงไม่น่าจะขยายออกนอกสหรัฐฯ แบบที่ Netflix ทำทั้งโลกได้ในเร็ววันนี้
จะเห็นว่า “กลยุทธ์” เป็นตัวกำหนดทิศทางของธุรกิจ ทั้ง Netflix และ Hulu ให้แตกต่าง และเป็นสิ่งที่ต้องวางแผนกันมานับปี ถ้าวางแผนผิด บางทีอาจจะกลับตัวไม่ทัน

รุกตลาดเอเชีย ปรับส่วนผสมแต่ละประเทศเป็นจุดขาย

ตัวอย่างของ Global Expansion Plan ของ Netflix คือ ญี่ปุ่น ซึ่งเพิ่งเปิดตัวไปเมื่อเดือนวันที่ 2 กันยายน 2015
มีการไปตั้ง office อยู่ที่นั่น มีทีมซื้อคอนเทนต์เข้าไปทำงานร่วมกับผู้ผลิตคอนเทนต์ของญี่ปุ่นเอง และจะปรับเปลี่ยนบริการ Netflix ในตลาดญี่ปุ่น โดยเน้น local content กว่า 40% ซึ่งทำกับประเทศอื่นจะมีส่วนผสมของ local content อยู่ที่ 20%
บริษัทที่ร่วมสร้างคอนเทนต์ในญี่ปุ่นกับ Netflix คือ Fuji Media Holdings และ Yoshimoto Kogyo
พาร์ทเนอร์หลักในการบุกตลาด มีการจับมือกับค่ายมือถือยักษ์ใหญ่อย่าง SoftBank ที่มีลูกค้ากว่า 37 ล้านคน โดยสมาร์ทโฟนที่ SoftBank ขายตั้งแต่ช่วงนั้น จะมีแอพ Netflix ติดตั้งอยู่ในตัวเครื่องเลย
(ตอน Netflix เปิดตัวในฝรั่งเศสเมื่อปี 2014 ก็จับมือกับ Bouygues Telecom ซึ่งเป็น operator เบอร์ 3 เพื่อ launch บริการ)
นอกจากค่ายมือถือ Netflix ยังมีพารท์เนอร์กับผู้ผลิตทีวีของญี่ปุ่น คือ Sony, Toshiba และ Panasonic
ใครที่ซื้อทีวี 3 ยี่ห้อนี้ จะมีแอพ Netflix ติดอยู่ในเครื่องเลยตั้งแต่วันแรก
ประเทศหลักที่ Netflix เล็งขยาย จะดูจากอัตราการใช้ Broadband ขนาดของตลาด และความพร้อมด้าน infrastructure เพื่อให้บริการไม่ะดุดต่อเนื่อง
ประเทศในเอเชียที่ Netflix หมายมั่นปั้นมือที่สุด คือ ญี่ปุ่น เกาหลี ฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ และจีน
เฟสแรกต้องทำให้เกิดใน 5 ประเทศนี้ให้ได้ก่อน (แต่จีนยังไม่รู้ว่าเมื่อไหร่)
— — — —

Netflix จะเกิดในไทยมั้ย?

แม้ตอนนี้ Netflix จะดูในไทยได้ แต่ยังต้องใช้เวลาอีกซักพัก กว่าจะให้บริการแบบเต็มที่ได้ เพราะคอนเทนต์ที่มีตอนนี้ ยังน้อยมาก (ติดเรื่องสิทธิ์ในการเผยแพร่)
และหนังส่วนใหญ่ที่ Netflix มี ไม่ใช่หนังแนวที่คนไทยชอบดู (หนัง Box Office ฟอร์มยักษ์ มีน้อย และหนังส่วนใหญ่จะเก่า)
ต้องมีหนังและซีรีย์ที่เยอะกว่านี้ มี subtitle ภาษาไทยพร้อม (ตรงนี้ไม่ยาก เพราะคอนเทนต์จากค่ายหนังส่วนใหญ่จะมีให้ ถ้าไม่มีก็หาคนทำได้ไม่ยาก)
อาจจะต้องมีคอนเทนต์ของไทยที่ผลิตโดยคนไทย เพราะสร้าง flavor ให้เหมาะกับสิ่งที่คนไทยชอบ
การมีออฟฟิศในประเทศไทย ก็จะช่วยให้ทีมงานของ Netflix ทำงานร่วมกับทีมสร้างคอนเทนต์ได้ในประเทศไทยได้ง่ายขึ้น
พาร์ทเนอร์ที่สำคัญอีกราย เป็นค่ายมือถือ ที่สามารถช่วยทำตลาดในระดับ mass ได้เร็ว ทั้งการ bundle ตัวแอพลงในโทรศัพท์ การขายผ่าน distribution channels ต่างๆ เช่น ตามหน้าร้านช๊อป ร้านลูกตู้ต่างๆ)
รวมไปถึงการทำแพคเกจ โปรโมชั่นส่งเสริมการขาย อย่างเช่น ในสหรัฐ Netflix จับมือกับ T-Mobile ที่มี offer ให้ลูกค้า คือ
  1. ซื้อมือถือบางรุ่น ลด $100 แถม Netflix 1 ปี
  1. ดู Netflix บนมือถือ ไม่เสียค่า data เพิ่ม และไม่เอามาหักจากแพคเกจ (บริการชื่อ Binge On) — บริการนี้สมัครฟรีไม่เสียค่าบริการเพิ่มด้วย
อุปสรรคที่สำคัญของธุรกิจประเภทนี้อีกข้อ คือ การจ่ายเงิน ที่จะต้องง่ายสำหรับคนไทย เพราะไม่ใช่ทุกคนที่มีบัตรเครดิต
วันก่อนที่เปิดตัว เรื่องการจ่ายเงินก็เป็นประเด็นที่อินเดียแล้ว เพราะ Netflix ไม่รับบัตรเดบิตของอินเดีย แม้จะเป็นบัตรของ MasterCard ก็ตาม
ที่อเมริกา Netflix ใช้วิธีแก้ โดยการขายบัตรเติมเงินครับ
Netflix Gift Card มี 2 ราคา คือ $30 กับ $60
เมื่อเดือนกันยายน 2015 Netflix ก็เอาบัตรเติมเงินไปวางขายในอังกฤษบ้าง สนนราคาคือ 15, 25 และ 50 ปอนด์ หาซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อทั่วไปเลย
เชื่อว่า ถ้า Netflix ซัดเต็มที่ในแต่ละประเทศเมื่อไหร่ บริการดูคอนเทนต์แบบสตรีมมิ่ง จะโตเร็วแบบสุดๆ จนคนอาจจะไม่ง้อการดูทีวีแบบเดิมๆอีกต่อไป
— — — —

วิสัยทัศน์ของ Netflix กับธุรกิจทีวี

Reid Hasting ซีอีโอของ Netflix เคยบอกไว้ใน รายงานประจำปี 2013 ในหัวข้อ “The Future of Television” ว่า
“อนาคตของการดูทีวี คือ แอพ ที่จะมาแทนช่องทีวี มือถือใช้ควบคุมการดูแทนรีโมท และรูปแบบการดูทีวีจะเป็นแบบ ตามใจเรา ไม่ใช่ตามใจช่องที่อยากจะฉายอะไร เราก็ต้องดูตามนั้น”
ปี 2016 จะเริ่มเห็นวิสัยทัศน์ของ Reid เป็นรูปเป็นร่าง เพราะ Netflix เริ่มต้นแผนครองทีวีทั้งโลก หลังจากที่ทำสำเร็จแล้วในสหรัฐอเมริกา ด้วยยอดสมาชิกแซงหน้า Cable TV ทุกราย
ถ้าเข้าไปอ่าน vision ของ Netflix ในเว็บไซต์ จะมีเขียนไว้เลยครับว่า
“Internet TV is replacing linear TV”
ดิจิตัลทีวีทั้งหลาย อีกไม่นาน จะถูกแทนที่ด้วย Internet TV